แชร์

เท้าแบนในเด็ก (Flat Foot)

อัพเดทล่าสุด: 28 ก.พ. 2024
455 ผู้เข้าชม

คุณพ่อคุณแม่หลายคนก็คงจะอดเป็นห่วงลูกน้อยไม่ได้เมื่อพบว่ามีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นกับลูก หากสังเกตว่าเท้าลูกน้อยมีลักษณะแบน ก็คงจะกังวลใจทันทีกลัวว่าลูกจะพบเจอปัญหาเท้าแบนในเด็ก ความจริงแล้วเท้าแบนในเด็ก เป็นโรคอย่างหนึ่งใช่หรือไม่ และจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของลูกน้อยในอนาคตบ้างหรือเปล่า
เท้าแบนในเด็กคืออะไร และมีลักษณะอย่างไร
เท้าแบนในเด็ก ก็คือเท้าที่ไม่มีอุ้งเท้า อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ปกติคนเราเท้าจะมีรอยเว้าบ้าง ลองเอาเท้าเปล่าที่เปียกน้ำมาย่ำบนพื้นดู เราจะเห็นว่ารอยจะเว้าไปตามรูปเท้าไม่ได้เต็มทั้งฝ่าเท้า ส่วนเท้าแบนก็คือตรงกันข้าม เท้าจะไม่มีรอยเว้า จะมีลักษณะแบนติดพื้นไปตลอด ถ้าเท้าเปียกน้ำแล้วเอาย่ำบนพื้นคนที่เป็นเท้าแบนจะเห็นเป็นรอยเต็มทั้งฝ่าเท้า ในเด็กส่วนใหญ่จะมีลักษณะเท้าแบนแบบที่เรียกว่า เท้าแบนแบบยืดหยุ่น คือเวลายืนก็จะเห็นว่าเท้าแบนเรียบติดไปกับพื้น แต่พอเขย่งปลายเท้าก็จะเห็นรอยเว้ารอยโค้งของเท้าเหมือนเท้าปกติ ส่วนเท้าแบนแบบแข็งเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นภาวะผิดปกติที่พบได้น้อยมาก และสามารถตรวจเจอโดยศัลยแพทย์กระดูกและข้อ

เท้าแบนในเด็กเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และมีกี่ชนิด

หลัก ๆ แล้วสาเหตุที่ทำให้เท้าแบนจะมีอยู่ 3 ประการคือ

1. เป็นมาแต่กำเนิดคือโดยธรรมชาติของร่างกาย
2. Flexible Flat Feet เอ็นหย่อน สาเหตุนี้พบได้เป็นปกติในเด็ก
3. Rigid Flat Feet หรือเท้าแบนชนิดแข็ง โดยในประเภทนี้อาจจะมีความผิดปกติจากส่วนอื่นร่วมด้วย อย่างเช่น อาการของสมองที่เรียกว่า Cerebral Palsy หรือมีความผิดปกติของไขสันหลัง หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือโครงสร้างของเท้า ซึ่งกระดูกแต่ละชิ้นมีความผิดปกติ
แต่ส่วนใหญ่ที่พบในเด็ก จะมีสาเหตุมาจากข้อ 1 กับ 2 เท่านั้น ข้อ 3 พบน้อยมาก

รู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยมีอาการเท้าแบนในเด็ก

เท้าแบนในเด็ก คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้ก็ตอนเมื่อลูกน้อยเริ่มเดิน อายุประมาณเกือบ 1 ขวบได้

เท้าแบนในเด็กเป็นโรคร้ายแรงหรือไม่
ส่วนใหญ่ เท้าแบนในเด็ก เป็นพัฒนาการของเด็ก ไม่ใช่โรคร้ายแรงหรือความผิดปกติที่น่าวิตกกังวลมากนัก คือเด็กส่วนใหญ่ก็จะมีอาการเท้าแบนเป็นปกติอยู่แล้ว เกือบแทบจะทุกคนเลยก็ว่าได้ แต่พอโตขึ้นเด็กก็จะมีพัฒนาการไปตามวัย ร่างกายก็จะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ เท้าที่เคยแบนราบในตอนเด็กก็จะค่อย ๆ ปรับเว้าโค้งรับกับเท้าไปเองตามพัฒนาการ แต่จะมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน เพราะบางทีพ่อแม่อาจจะมีลักษณะเท้าแบนนิด ๆ อยู่แล้ว ลูกก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามพ่อแม่เหมือนกับหน้าตานั่นเอง คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายจึงไม่ต้องกังวลกับเรื่องนี้มากนัก

เท้าแบนในเด็ก จำเป็นต้องรักษาหรือไม่
หากเป็นกรณีเท้าแบนที่เกิดจาก Rigid Flat Feet คือเป็นโครงสร้างที่ผิดปกติ คงจำเป็นต้องรักษาเป็นจริงเป็นจัง และส่วนมากจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข แต่ถ้าเป็นเท้าแบนแบบยืดหยุ่น (Flexible Flat Feet) คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลมาก เพราะปัจจุบันยังไม่มีรายงานหรือการวิจัยทางการแพทย์ใด ๆ ที่ระบุเจาะจงว่า เท้าแบนแบบยืดหยุนในเด็ก จะส่งผลและมีปัญหาต่อพัฒนาการของเด็กในอนาคต ดูแลลูกน้อยไปตามปกติไม่ต้องตกใจหรือกังวลใจมากมาย เพราะอาการนี้เป็นธรรมชาติของเด็ก พอโตขึ้นทุกอย่างก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง มีบางรายถ้าเป็นมาก ๆ อาจจำเป็นต้องตัดรองเท้าช่วย แต่ถ้าหากไม่สบายใจจะเข้ามาปรึกษาแพทย์ก็ได้ ถือว่าเป็นการพาลูกน้อยมาตรวจสุขภาพเลยก็ดีและเพื่อความสบายใจของคุณพ่อคุณแม่ด้วย

หวังว่าทุกท่านคงค้นพบความจริงกันแล้วกับปัญหาที่คาใจเรื่อง เท้าแบนในเด็ก ซึ่งคุณหมอได้ย้ำว่า อาการนี้ไม่ใช่โรคชัดเจน ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวหรือน่ากังวลเป็นเพียงธรรมชาติของเด็กและจะเปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการของเด็กที่เติบโตขึ้น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายที่เป็นกังวลอยู่ก็สบายใจหายห่วงกันได้แล้ว

ขอบคุณบทความดีๆ : รศ. นพ. จตุพร โชติกวณิชย์ info@samitivej.co.th


บทความที่เกี่ยวข้อง
รองช้ำ
อาการปวดบริเวณฝ่าเท้า อาการที่ดูไม่ร้ายแรงจนทำให้หลายคนมองข้าม แพราะมองว่าแค่ซื้อยาแก้ปวดรับประทานก็คงหาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจเป็นสัญญาณอันตรายทำให้เกิด ''โรครองช้ำ''
เท้าเด็กและปัญหาสุขภาพเท้า
เท้าของเด็กน้อย...สำคัญกว่าที่คิด ปัญหาสุขภาพเท้าที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy